โรคที่ต้องระวังสำหรับเด็กๆ มีอะไรบ้าง?
มีโรคติดต่อหลายโรคที่มักจะระบาดในช่วงเปิดเทอม เพราะที่โรงเรียนอาจมีกิจกรรมให้เด็กๆ ทำร่วมกัน มีการสัมผัสกันบ้าง หรือยืมของใช้กันบ้าง ความใกล้ชิดในลักษณะนี้ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายและติดต่อกันได้ง่ายในหลายๆ โรค เช่น
1. โรคโควิด-19 โรคติดต่อที่เราทุกคนต้องเฝ้าระวังและดูแลตัวเองอย่างเต็มกำลัง นั่นก็คือ โรคโควิด-19 การให้ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์บ่อยๆ และสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อต้องอยู่นอกบ้านจึงจำเป็น
สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนา ที่สามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัส ละอองเสมหะ ไอ จาม น้ำมูกของผู้ติดเชื้อ
อาการ มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย เจ็บคอ ไอถี่ มีเสมหะ บางรายอาจมีอาการอาเจียน ถ่ายเหลวร่วมด้วย
2. โรคตาแดง เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่าย จากการสัมผัสเชื้อโรคโดยตรง
สาเหตุ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส ติดต่อได้โดยการสัมผัสน้ำตา และขี้ตาของผู้ป่วย หรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วย รวมทั้งการไอจามรดกัน
อาการ เคืองตา ปวดตา ตาบวม ตาแดง คันตา มีน้ำตาไหล และมีขี้ตามากผิดปกติ
3. โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคติดต่อที่พบบ่อยในเด็ก มักระบาดในช่วงฤดูฝน หรือช่วงต่อฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝน โรคนี้ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ เป็นต้น
สาเหตุ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในลำไส้แบบเฉียบพลัน และติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรงทางสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น น้ำลาย น้ำมูก ตุ่มพอง โรคนี้มักพบในเด็กเล็กมากกว่าเด็กโต
อาการ มีไข้สูง มีตุ่มแผลอักเสบในปากหรือในคอ มีตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า และลำตัว
4. โรคอุจจาระร่วง เป็นภาวะที่มีการถ่ายเหลวผิดปกติ ตั้งแต่ 3 ครั้งติดต่อกัน
สาเหตุ เกิดจากการกินอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน รวมถึงการจับของเล่นหรือสิ่งของสกปรกเข้าปาก
อาการ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย บางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย
5. โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่ระบาดมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กๆ เปิดเทอมพอดี
สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ติดง่ายผ่านลมหายใจ ไอ จาม ละอองน้ำมูก และเสมหะของผู้ป่วย รวมทั้งการสัมผัสหรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย
อาการ มีไข้สูงติดต่อกันหลายวัน หนาวสั่น ไอ จาม อ่อนเพลีย และปวดกล้ามเนื้อ
6. โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่พบมากในเด็ก โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน เพราะมีน้ำขัง ทำให้ยุงลายแพร่พันธุ์ได้มากขึ้น.
สาเหตุ มียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยนำเชื้อไวรัสเด็งกี่มาแพร่เชื้อให้ผู้ที่ถูกกัด
อาการ มีไข้สูง ปวดเมื่อตามตัว ผื่น มีจุดแดงตามผิวหนัง มีอาการซึม อ่อนเพลีย รวมถึงมีอาการคลื่นไส้และอาเจียน หากลูกหลานมีไข้สูงโดยไม่ทราบสาเหตุควรรีบพาไปพบแพทย์
การป้องกันโรคนั้น ผู้ปกครองต้องเฝ้าสังเกตอาการของลูกหลานอย่างใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติ หรือมีอาการใดที่บ่งชี้ได้ว่าอาจเป็นโรคใดโรคหนึ่ง ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจ วินิจฉัย และรักษาโดยเร็วที่สุด
การปกป้องลูกหลานจากโรคต่างๆ ที่อาจเข้ามากล้ำกรายมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เด็กๆ ไม่ต้องเจ็บป่วย จะได้ไปโรงเรียนตามปกติ ได้ออกไปเรียนรู้โลกกว้างอย่างมีความสุข
ที่มาข้อมูล และภาพ: โรงพยาบาลพญาไท(โรคที่ต้องระวังสำหรับเด็กๆ มีอะไรบ้าง?)